การป้องกัน

          การไม่มีเพศสัมพันธ์เป็นวิธีดีที่สุดในการป้องกันการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (แต่เป็นเรื่องเป็นไปได้ยาก) นอกจากนี้ การไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ไม่มีคู่นอนหลายคน และการอยู่กับคู่นอนที่ไม่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างถาวร จะช่วยลดโอกาสการเป็นโรคได้ การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV (วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก) และวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะเวลาที่เหมาะสมก่อนที่จะเริ่มมีเพศสัมพันธ์จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อไวรัสเหล่านี้ได้ การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ในประเทศไทย มักจะเริ่มตั้งแต่ขณะที่อยู่ในวัยเด็ก ส่วนการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV มักจะแนะนำให้ผู้หญิงฉีดในช่วงอายุ 9-26 ปี
กรณีที่จะมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนคนใหม่ คุณและคู่คนใหม่ควรเข้ารับการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์
ควรใช้ถุงยางอนามัยอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดโอกาสติดโรค อย่างไรก็ดีหากใช้สารหล่อลื่นที่มีส่วนผสมของน้ำมัน เพื่อหล่อลื่นถุงยางอนามัยชนิดลาเทกซ์ การกระทำดังกล่าวจะลดประสิทธิภาพในการป้องกันการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพราะจะทำให้เนื้อยางชำรุด การยืดหยุ่นของยางลดลง ถุงยางจึงแตกได้ง่าย และยังลื่นหลุดได้ง่ายอีกด้วย
ควรหลีกเลี่ยงการดื่มสุรามากเกินไป และการใช้สารเสพติด ทั้งนี้เพราะการกระทำดัง กล่าว จะทำให้คุณขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง และนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยงต่อการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่เคยรู้จัก หรือการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่รู้จักทางอินเทอร์เนต ในบาร์ หรือสถานที่เที่ยวต่างๆ เป็นการเพิ่มความเสี่ยงอย่างมากในการติดโรค ติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ก่อนที่จะมีสัมพันธ์ทางเพศ ควรพูดคุยและตกลงกับคู่ของคุณในเรื่องของการมีเพศสัม พันธ์ที่ปลอดภัยว่า กิจกรรมใดที่ควรทำและไม่ควรทำ
ในผู้ที่มีบุตร ควรปลูกฝังให้มีพฤติกรรมทางเพศที่เหมาะสมในวัยอันควร ทั้งนี้เพราะการมีเพศสัมพันธ์ขณะอายุยังน้อยจะเพิ่มความเสี่ยงในการติดโรคต่างๆได้ง่าย
การมีเพศสัมพันธ์กับคู่เพียงคนเดียวจะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อได้
การขลิบอวัยวะเพศชายจะช่วยลดความเสี่ยงในการที่ผู้ชายจะติดเชื้อ HIV จากผู้หญิงที่เป็นโรคได้ถึง 50-60% นอกจากนี้การขลิบยังช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV และเริมได้อีกด้วย
อนึ่ง วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่มีในปัจจุบันจะป้องกันมะเร็งปากมดลูกเฉพาะที่เกิดกับเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ย่อย 16 และ 18 (ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ประมาณ 70%) ไม่สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่เกิดจากสายพันธุ์ย่อยอื่นๆได้ แต่มีรายงานจากสถาบันจุฬาภรณ์ (พ.ศ. 2556) ว่า สาเหตุส่วนใหญ่ของมะเร็งปากมดลูกของหญิงไทย เป็นสายพันธุ์ย่อย 52 และรองลงมาคือ 16 ดังนั้น การฉีดวัคซีนนี้จึงน่าจะมีประโยชน์น้อยในหญิงไทย